World Economic Forum หรือ สภาเศรษฐกิจโลกได้กำหนดให้ “Critical Thinking” (อ่านว่า คริท’ทิเคิล ธิง’คิง) แปลเป็นไทยว่า “การคิดอย่างมีวิจารณญาณ” เป็นหนึ่งในทักษะที่คนทำงานต้องมีก่อนปีค.ศ. 2025
เนื่องจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” (Digital Disruption) การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2014 อินเตอร์เน็ตปฏิวัติการรับรู้ และ การเข้าถึงข้อมูลของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ข้อมูลมหาศาลที่มากองอยู่ตรงหน้า ความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความผันผวนและความถี่การเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น ทำให้คนทำงานในยุคนี้ต้องมีความสามารถในการค้นหา คัดกรองข้อมูลที่มีประโยชน์ มาคิดวิเคราะห์และนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้น
Critical มาจากรากศัพท์ภาษากรีก Kritikos แปลว่า “สามารถตัดสินหรือแยกแยะได้”
เพราะฉะนั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ที่ดีคือการตัดสินใจที่เชื่อถือได้โดยอาศัยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”
หรือถ้าอธิบายความหมายเต็มๆ จะหมายความประมาณนี้
ความพยายามที่จะคิดและตัดสินใจในสิ่งต่างๆ โดยใช้กระบวนการทางเหตุผล ที่ได้มาซึ่งหลักฐาน ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลสนับสนุน มองข้ามประสบการณ์ตัวเอง หรือความเชื่อดั้งเดิม รวมไปถึงใช้อารมณ์ ความรู้สึกให้น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอคติในการคิดและการตัดสินใจ
โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การหาคำตอบที่สมเหตุสมผล และเป็นไปได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องดีกว่าการตอบคำนี้ในครั้งที่แล้ว เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และลงมือทำต่อไป
ตัวอย่างการใช้ Critical Thinking ในงาน
- ฝ่ายซ่อมบำรุงวิเคราะห์ความเสี่ยงของการหยุดเดินของเครื่องจักรเพื่อทำแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
- ฝ่ายจัดซื้อประเมินซัพพลายเออร์เพื่อหาสินค้าที่ราคาถูกและมีคุณภาพมากที่สุด
- ฝ่ายขายวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า คู่แข่ง และ ประวัติการขายเพื่อวางกลยุทธ์การขายประจำเดือน
- ฝ่ายบริการลูกค้ารับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงงานบริการลูกค้า
- ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์คัดเลือกผู้สมัครมาทำงานในตำแหน่งงานที่สำคัญในองค์กร
- ฝ่ายผลิต กำลังวิเคราะห์เรื่องของเสียในกระบวนการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
- ฝ่ายการเงินกำลังวิเคราะห์บัญชีเพื่อวางแผนกระแสเงินสดในองค์กร
ถ้าคนทำงานในขาดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและนำไปสู่ปัญหาด้าน Productivity จนอาจก่อเกิดเป็นปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้
งานวิจัยของ MIT สำรวจผู้ใช้งานทวิตเตอร์พบว่า มีผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านบัญชีแชร์ข่าวปลอม (Fake news) กว่า 70% จากข่าวสารทั้งหมด 126,000 ชิ้น ไปกว่า 4.5 ล้านครั้ง
แต่ข่าวจริงกลับต้องใช้มากกว่าถึง 6 เท่า เพียงแค่เข้าถึงผู้ใช้เพียง 1,500 บัญชีเท่านั้น
งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนถึงระดับความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้คนอย่างชัดเจน
ซึ่งหากมองเป็นโอกาสนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญขององค์กร ที่ต้องเร่งอัพสกิลทักษะนี้ให้กับพนักงาน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง และความเป็นไปได้ใหม่ๆ นำไปสู่การขยายขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรออกไปให้ไกลขึ้น
ทำไม Critical Thinking ถึงสำคัญ
It enhances Problem solving ability
การคิดอย่างมีวิจารณญาณช่วยเพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหา
Refine your Research skills
การคิดอย่างมีวิจารณญาณช่วยปรับแต่งความสามารถในการค้นคว้าและทดสอบสมมุติฐานให้ดีขึ้น
Polishes your Creativity
การคิดอย่างมีวิจารณญาณกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
Stimulates Curiosity การคิดอย่างมีวิจารณญาณสร้างความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งช่วยให้คุณแกะรอยและเรียนรู้จากความไม่รู้ จนนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ
Helps to improve Decision making การคิดอย่างมีวิจารณญาณทำให้การตัดสินใจได้ดีขึ้น และการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพนั้นทำให้ความเสี่ยงในการดำเนินการลดลงอย่างมาก
6 Key Critical Thinking Skills
6 ทักษะที่สำคัญของการคิดอย่างวิจารณญาณ (คลิกอ่านแต่ละหัวข้อ)
1. Identifying biases (รู้เท่าทันอคติ)
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณคือ Cognitive Bias หรือ “อคติ” หรือ ถ้าแปลไทยมันคือ “ความเอนเอียง” เพราะเนื่องจากธรรมชาติกระบวนการคิดมนุษย์ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ หรือ ที่เรียกระบบนี้ว่า “Fast Thinking”
ความเอนเอียง มีหลายแบบมากเช่น
- CONFIRMATION BIAS : การรับแต่ข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อตัวเองและปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้ง
- COGNITIVE DISSONANCE : การที่เราหาเหตุผลมาเข้าข้างความเชื่อตัวเองเพื่อให้สบายใจ
- HALO EFFECT : การที่เราตัดสินคนอื่นจากโมเม้นต์สั้นๆ ที่เราเห็น
- BLIND SPOT BIAS : การคิดว่าตัวเองไม่มีคติ คนอื่นต่างหากที่มีอคติต่อตัวเราเอง
- FALSE CONSENSUS EFFECT : การคิดว่าใครๆ ก็คิดแบบเดียวกับเราทั้งนั้น
- FUNDAMENTAL ATTRIBUTION ERROR : อคติต่อความผิดพลาดตัวเอง มองความผิดตัวเองเล็กน้อยกว่าคนอื่น
- BANDWAGON EFFECT : การคิดหรือทำอะไรตามคนส่วนใหญ่ เพื่อให้อยู่ในกระแสนิยม
- STEREOTYPICAL BIAS : อคติที่เกิดจากการนำสิ่งหนึ่งมาเหมารวมทุกสิ่งโดยไม่มองบริบทที่แตกต่าง
- ANCHORING BIAS : การปักใจเชื่อในข้อมูลแรกที่ได้รับ จนไม่หาข้อมูลด้านอื่นประกอบ
- SELF-SERVING BIAS : อคติที่เกิดจากการเข้าข้างตัวเองมากเกินไป
2. Inference (การอนุมาน)
การอนุมาน คือ การคาดคะแนตามหลักเหตุผล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญก่อนที่จะไปสู่กระบวนการตัดสินใจซึ่งการอนุมาน มีอยู่ 3 ลักษณะคือ
1. Deductive inference : การคาดคะแนจากข้อเท็จจริงตามหลักเหตุผล ที่หาหลักฐานมารับรองได้ เช่น เมื่อใส่น้ำเกินปริมาตรในภาชนะน้ำจะล้นออกมา , ฤดูฝนมีโอกาสเกินฝนตกมากกว่าฤดูร้อน
2. Inductive inference : เป็นการคาดคะแนจากสิ่งที่สังเกตได้
เช่น : ได้ยินเสียงไซเรน จากด้านหลังขณะขับรถอยู่บนถนนที่จราจลหนาแน่นผิดปกติ จึงคาดคะแนว่าข้างหน้าอาจจะมีอุบัติเหตุ
3. Statistical inference : เป็นการคาดคะแนจากข้อมูลทางสถิติ เช่น : คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต 61.2 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน จาก 47.5 ล้านคนในช่วง 5 ปีก่อนหน้า
การอนุมานต้องอาศัย ความสามารถในการอ่านสถานการณ์ หรือ สิ่งที่เกิดขึ้น รวมไปถึง พื้นฐานความรู้ ความสามารถในการค้นคว้าข้อมูล แล้วจึงเกิดการคาดคะแน
อะไรเอ่ยไม่เข้าพวก ???
แล้วจะเอาการ “อนุมาน” ไปปรับใช้ในการทำงานอย่างไร
– ระบุความผิดปกติในการทำงาน
– ตั้งสมมุติฐาน และความเป็นไปได้
– สร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหา
– สร้างไอเดียตั้งต้นในการระดมสมอง
3. Research (การสืบค้นข้อมูล)
การสืบค้นข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ
- เทคโนโลยี เครื่องมือ และ ช่องทางค้นคว้าข้อมูล : ซึ่ง เสิร์ชเอนจิน (search engine) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Google หรือ แพลตฟอร์มข้อมูลที่ใช้ AI ในการให้ข้อมูลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดคือ Chat GPT
- คำ หรือ คีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหา
- ความสามารถในการประเมินข้อมูลก่อนนำมาใช้
ประเภทข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์
Exploratory : ข้อมูลการสำรวจต่างๆ
Descriptive : ข้อมูลที่เป็นรายละเอียด
Explanatory : ข้อมูลที่อธิบายถึงองค์ประกอบ
Correlational : ข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์
Causal : ข้อมูลที่บอกถึงสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น
Experimental : ข้อมูลการทดลอง
เทคนิคการค้นหาข้อมูลให้ตรงใจด้วย Google
1. หาข้อมูล แต่อยากเลือกดาวน์โหลดเฉพาะประเภทไฟล์ที่ต้องการ
วิธีการ : พิมพ์คำที่ต้องการ(เว้นวรรค) filetype:ชื่อไฟล์
ตัวอย่าง : คู่มือdesign thinking filetype:pdf
2. เจาะจงข้อมูลที่ต้องการค้นหา ภายในเว็บไซต์นั้นๆ วิธีการ : site:ชื่อเว็บไซต์(เว้นวรรค)คำที่ต้องการค้นหา หรือ คำที่ต้องการค้นหา(เว้นวรรค)site:ชื่อเว็บไซต์ ตัวอย่าง : site:pftg10x growthmindset
3. อยากหาคำ หรือประโยคนั้นทั้งประโยค วิธีการ : “คำหรือประโยคที่ต้องการหาทั้งประโยค” ตัวอย่าง : ”การทดลองความจำปลาทอง”
4. ตัดข้อมูลที่ไม่ต้องการออกด้วยเครื่องหมาย – วิธีการ : สิ่งที่ต้องการค้นหา(เว้นวรรค)-สิ่งที่ไม่ต้องการออก
ตัวอย่าง : แบรนด์รถยนต์ในโลก-รถไฟฟ้า
5. หาข้อมูลตามช่วงตัวเลขนั้นๆ วิธีการ : เรื่องที่ต้องการค้นหา(เว้นวรรค)ตัวเลข..ตัวเลข ตัวอย่าง : โทรศัพท์มือถือในปีค.ศ. 2000..2015
6. ค้นหาเป็นรูปภาพ วิธีการ : พิมพ์คำที่ต้องการจะค้นหา และเลือกรูปแบบการค้นหาเป็นภาพ ตัวอย่าง : อินโฟกราฟิกประชากรโลก
4. Identification (การระบุปัญหา)
การระบุปัญหา คือ การทำความเข้าใจปัญหาหรือความท้าทายที่เกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์เงื่อนไขหรือข้อจำกัดของสถานการณ์นั้นด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการกำหนดขอบเขตของปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างทางเลือกหรือวิธีการในการแก้ปัญหานั้น
เครื่องมือในการระบุปัญหามีมากมายอย่างเช่น 5W1H , Why Why Analysis , Cause & Effect Diagram ฯลฯ
การระบุปัญหาที่มีความซับซ้อนน้อยด้วย Why Why Analysis
หรือ การระบุปัญหาที่มาจากหลายปัจจัย และมีความซับซ้อนมากกว่าด้วย Cause & Effect Diagram (แผนผังก้างปลา)
5. Curiosity (การแกะรอยจากคำถามและความไม่รู้)
Curiosity หรือ ความอยากรู้อยากเห็น เป็นส่วนผสมที่สำคัญของ การคิดอย่างวิจารณญาณ เพราะการสงสัยใคร่รู้ ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ค้นคว้าและนำไปสู่ ความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากขอบเขตพื้นฐานความรู้เดิมที่มีอยู่
ซึ่งมาจากแรงกระตุ้น 2 แบบ
Perceptual Curiosity คือ ความอยากรู้อยากเห็นที่ถูกกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น อยู่ในอากาศร้อน จะทำอย่างไรให้เย็นขึ้น
Epistemic Curiosity คือความอยากรู้อยากเห็นที่ถูกกระตุ้นผ่านความรู้สึก เพื่อต้องการได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ เช่น ทำไมปลาทองถึงความจำสั้น และ สั้นจริงหรือเปล่า
การตั้งคำถามคือหัวใจสำคัญของ ความอยากรู้อยากเห็น
การระดมคำถามจะช่วยให้การหาคำตอบมีจำนวนมากพอที่จะคัดเลือกเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมในหลายปัจจัย และคำถามช่วยให้เกิดการคิดนอกกรอบเดิม และนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
หรือนำแนวทางการตั้งคำถามแบบ SCARMPER ไปใช้ในการหาทางเลือกใหม่ๆ
The important of think is not to stop questioning
ความสำคัญของการคิด คือการอย่าหยุดตั้งคำถาม
6. Judging relevance (ตัดสินใจจากสิ่งที่เกี่ยวข้อง)
การตัดสินใจจากข้อมูล หรือ ทางเลือกที่มีทั้งหมด เป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อน ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ดร.ชีน่า ไอเยนการ์ ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการของ Columbia Business School ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดสินใจบอกว่า คนเรามีการตัดสินใจเฉลี่ยวันละประมาณ 70 ครั้ง
ถ้าเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูงมีค่าเฉลี่ยจำนวนงานที่ต้องดูแลประมาณ 139 เรื่องในสัปดาห์
พบว่าผู้บริหารเกือบครึ่งหนึ่งจะใช้เวลาในการตัดสินใจเรื่องละไม่เกิน 9 นาที
และมีจำนวนร้อยละ 12 ของผู้บริหารทั้งหมดใช้เวลาตัดสินใจมากกว่าหนึ่งชั่วโมง
ซึ่งกลายเป็นปัญหาของการสูญเสียเวลาอันมีค่าของผู้บริหารที่สามารถนำเวลาดังกล่าวไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้มากมาย
เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาอาจตกอยู่ในกับดักของการตัดสินใจ
ดร.ชีน่า ไอเยนการ์ ได้ให้คำแนะนำเทคนิคในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพไว้ 3 ข้อ
1. การตัดหรือลดทางเลือก (Cut)
เมื่อมนุษย์เผชิญกับทางเลือกที่มากเกินไป อาจนำไปสู่การ
“ไม่ตัดสินใจ” หรือขอ “เลื่อนการตัดสินใจ” ออกไปก่อน การตัดทางเลือกให้น้อยลงจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
เมื่อคนเรามีตัวเลือกพอประมาณ (4-6 ตัว) เขาจะสามารถตัดสินใจเลือกและพอใจในสิ่งที่เลือก ได้มากกว่าการมีตัวเลือกที่มากเกินไป (20-30 ตัว)
2. การจัดหมวดหมู่ (Categorization)
แต่หากไม่สามารถตัดตัวเลือกออกได้ ให้จัดหมวดหมู่ให้ทางเลือกและให้ตัดสินใจเลือกไปที่หมวดหมู่ โดยยังไม่ต้องไปลงรายละเอียด
3. ระดับความซับซ้อน (Complexity)
และเมื่อต้องตัดสินใจในรายละเอียด ให้จัดระดับความซับซ้อนของหัวข้อทั้งหมด ซึ่งการตัดสินใจควรเริ่มจากระดับง่ายไปยาก โดยค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อน
สรุป Critical Thinking คือทักษะการคิดวิเคราะห์ จากการค้นคว้าข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ คาดคะแนน จบด้วยกระบวนการตัดสินใจจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมองข้ามความเอนเอียง อคติ และชุดความรู้ ความเชื่อเดิม เมื่อต้องนำ Critical Thinking ไปใช้ในการทำงานให้เริ่มต้นด้วย (ประยุกต์มาจาก 5 tips to improve your critical thinking – Samantha Agoos)
- ตั้งคำถาม : Formulate your question เป็นวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะช่วยให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วปัญหานั้นคืออะไร
- รวบรวมข้อมูล : Gathering your information การมีข้อมูลอยู่ในมือมากเพียงพอ ทำให้เราสามารถตัดสินใจอะไรได้ง่ายอย่างขึ้น และแน่นอนว่าการหาข้อมูลจะหาสิ่งมาหักล้างสมมติฐาน รวมถึงการประกอบข้อมูลในด้านอื่น ๆ เพื่อมองหาความจริง
- ใช้ข้อมูล : Apply your information นำข้อมูลที่มีในมือ มาพิจารณาให้ครบทุกด้าน หลังจากที่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร นำข้อมูลหรือตัวเลือกที่ได้ มากรองอีกขั้นด้วยตัวอย่างคำถามเช่น “การตัดสินใจนั้นมันตรงกับแนวความคิดของเรามากแค่ไหน” “สิ่งที่เราคาดการณ์ไว้นั้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน” “การตีความข้อมูลของเราถูกต้องหรือเปล่า” มองหาหลักฐานที่จับต้องได้มากกว่าอาศัยการคาดคะแนอย่างเดียว
- พิจารณาทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง : Consider the implications เมื่อจะตัดสินใจให้เหยียบเบรกอีกที คิดดูอีกทีว่าสิ่งที่เรากำลังจะตัดสินใจ จะมีผลกระทบต่อตัวเราและคนอื่น ๆ หรือสิ่งอื่นบ้างอีกไหม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- สำรวจความเห็นอื่น ๆ : Explore other points of view ถ้ายังไม่มั่นใจ บางทีอาศัยแค่มุมมองของเราในการตัดสินใจอาจทำให้เราเห็นข้อมูลแค่เพียงด้านเดียว ลองพิจารณามุมมองของผู้อื่นว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจไม่เหมือนเรา อะไรที่ทำให้แตกต่าง แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับมุมมองนั้นเลยสักนิด แต่การหยิบขึ้นมาพิจารณาจะทำให้เรามีมุมมองที่กว้างและลึกขึ้น บางครั้งอาจทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาที่แตกต่างไม่จำกัดแค่เพียงสิ่งที่เราคิดเท่านั้น